สวัสดีค่ะ จะมาบอก 8 จุดที่สำคัญในบ้านที่ควรตรวจเช็คกันค่ะ เพราะการให้เวลาตรวจเช็คสภาพบ้านโดยรอบ ทำให้เราสามารถพบเจอร่องรอยของปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ได้ก่อน ทำให้ซ่อมได้ทันท่วงที ก่อนจุดปัญหาเล็กๆ จะลามเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจแก้ไขไม่ทัน เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ เราจะได้มั่นใจค่ะ ว่าบ้านของเรานั้นยังจะแข็งแรง และปลอดภัยอยู่ ไปชมกันเลยค่ะว่ามีจุดไหนบ้าง
1. หลังคา
เป็นจุดแรกๆ ที่ควรตรวจเช็คค่ะ เพราะหลังคาคือปราการด่านสำคัญในการปกป้องทั้งแดดและฝน แต่ของที่ใช้งานมานานย่อมมีการเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา หลังคาก็เช่นกันที่ท้าแดดท้าฝนก็ต้องซีดจางหรือเปราะแตกได้บ้าง ให้หมั่นตรวจสอบปีละ 2 หน โดยสังเกตร่องรอยการรั่วซึมได้จากคราบน้ำในจุดต้องสงสัย บางครั้งรั่วจากโครงสร้างหลังคาแอ่นตัวหรือแนวกระเบื้องเผยอออกจากกัน งานนี้ต้องเรียกช่างมาซ่อมแซม แต่ถ้ารั่วจากปูนอุดใต้ครอบสันหลังคาหลุดแตก แก้ได้เองโดยใช้ปูนนอนชริ้งค์เกราท์ (non-shrink grout) วัสดุซีเมนต์ผสมพิเศษ ที่ให้ค่ารับกำลังอัดสูง มีการไหลตัวดีและไม่มีการหดตัว เป็นปูนผสมสำเร็จรูป เหมาะกับการซ่อมแซมอุดรอยแตกร้าวและทาอะคริลิกกันซึมทึบ แล้วค่อยทาสีหลังคาให้กลมกลืนเหมือนเดิม
2. รางน้ำฝน
เส้นทางระบายน้ำฝนหลักของบ้านอยู่ที่รางน้ำฝน จึงต้องหมั่นตรวจสอบไม่ให้มีเศษใบไม้หรือขยะต่างๆ มาอุดตัน แต่รางน้ำที่ใช้งานเป็นเวลานานก็มีมักจะเสื่อมสภาพและทำให้เกิดปัญหารั่วซึมตามมาได้ หากรางน้ำชำรุดก็ควรซื้อมาเปลี่ยนใหม่ และถ้าเดิมเป็นแบบรางน้ำสังกะสีให้ลองเปลี่ยนเป็นไวนิลที่ทนทานกว่าและไม่เป็นสนิมเพื่อการใช้งานได้ยาวนานขึ้น หลังจากทำความสะอาดหรือเปลี่ยนใหม่แล้ว ควรทำตาข่ายหรือตะแกรงกันใบไม้เพื่อปิดกันเศษใบไม้อุดตันในตัวรางไว้ด้วย
3. ชายคากันสาด
เพราะฝนที่ซัดสาดใส่บ้านไม่ได้มาทางหลังคาอย่างเดียว รอบๆ บ้านเองก็โดนฝนไม่น้อย อาจทำให้เกิดการรั่วซึมได้ง่ายโดยเฉพาะรอยต่อประตูและหน้าต่าง วิธีแก้ไขสามารถทำได้โดยต่อเติมชายคาให้เป็นกันสาดรับน้ำฝนในระดับความยาวพอดี สามารถเลือกรูปแบบให้สวยเข้ากับตัวบ้านได้ แต่เน้นวัสดุทนความชื้น ไม่เกิดตะไคร่น้ำและเชื้อราตามมา ชายคาแบบนี้ยังช่วยป้องกันไม่ฝนสาดเข้าผนังเกิดเป็นรอยคราบน้ำหรือผุพังได้ง่ายด้วย
4. ผนังภายในและภายนอก
ตรวจเช็คความเรียบร้อยของผนังว่าไม่มีรอยร้าวรอยบวมใดๆ ให้น้ำฝนและความชื้นแทรกซึมเข้ามาในบ้านจนเกิดคราบเชื้อราและทำให้สีทาผนังหลุดร่อนได้ ถ้าพบเจอรอยร้าวก็ให้ขัดลอกสีผนังเดิมออกแล้วอุดรอยรั่วรอยร้าวนั้นก่อนด้วยวัสดุอุดประเภทอะคริลิกซีลแลนด์หรืออะคริลิกฟิลเลอร์ ทิ้งให้แห้งแล้วขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ละเอียด ทาด้วยน้ำยากันซึมอีกชั้นค่อยทาสีทับหน้าใหม่
5. ประตูหน้าต่าง
เป็นอีกหนึ่งปราการที่ช่วยป้องกันการซัดสาดของสายฝนไม่ให้นำความชื้นเข้าสู่ในตัวบ้าน ควรตรวจสอบการใช้งานไม่ว่าจะเป็นแบบบานเปิดหรือบานเลื่อน ให้สามาถปิดได้สนิท ดูรอยขอบต่อของกรอบประตูหน้าต่างกับผนังว่าชำรุดร้าวหรือไม่ มีการติดขัดเวลาเปิด-ปิดหรือไม่ ถ้ามีอาจมาจากบานหรือวงกบไม้ที่ชื้นจนบวม หากบิดตัวไม่มากก็แก้ไขได้ด้วยการใช้สิ่วและค้อนถามขอบที่บวมออก ขัดให้เรียบด้วยกระดาษทรายเบอร์ละเอียด แล้วทาทับด้วยสีน้ำมัน แต่หากบิดตัวมากจนอาจเกิดรอยร้าวบนผนังต่อไปก็ควรตามช่างมารื้อถอนปรับระดับใหม่
6. ฝ้าเพดาน
ตรวจร่องรอยน้ำรั่วซึมตามฝ้าเพดานทั้งภายนอกและภายในบ้าน ฝ้าที่มีรอยคราบน้ำรั่วซึมอาจมาจากน้ำฝนที่รั่วจากหลังคาหรือพื้นชั้นบนแล้วไหลมาที่ฝ้า ถ้าเป็นฝ้าภายนอกควรตามอุดรอยรั่วของน้ำจากหลังคาก่อน แล้วเปลี่ยนมาใช้ฝ้าทนน้ำและความชื้นได้ดีอย่างแผ่นสมาร์ทบอร์ดหรือแผ่นแคลเซียมซิลิเกต คล้ายกับฝ้าเพดานภายในบ้านที่ให้เปิดฝ้าเพื่อซ่อมแซมอุดรอยรั่วที่มาของน้ำก่อนแล้วค่อยติดตั้งฝ้าใหม่ในแบบเดิมเพื่อความกลมกลืนสวยงาม
7. ท่อระบายน้ำ
ทำความสะอาดท่อระบายน้ำทั้งภายในและภายนอกบ้านให้เรียบร้อย เอาเศษใบไม้และเศษดินสะสมที่เป็นตะกอนออกทิ้งให้หมด เพื่อไม่ให้พื้นที่การระบายน้ำอุดตัน ซึ่งอาจเป็นที่มาของน้ำท่วมและน้ำขังในเวลาฝนตกหนักๆได้
8. ตัดแต่งกิ่งไม้ใกล้บ้าน
หมั่นตัดแต่งกิ่งไม้ที่อยู่เหนือหลังคาบ้าน เพื่อไม่ให้เศษใบไม้หล่นมาอุดตันรางน้ำฝนหรือช่องทางระบายน้ำต่างๆ ของบ้าน รวมถึงกิ่นไม้ใหญ่ๆ ที่อาจแตกหักเมื่อเกิดพายุฝนลมแรงจนลงมาฟาดหลังคาบ้านเสียหายได้ อีกทั้งความรกรุงรังของต้นไม้ภายในบ้านที่มากเกินไปก็นำมาซึ่งสัตว์เลื้อยคลายอันตราย อย่าง งู ตะขาบ หรือแมงป่องได้ ถ้าจำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งไม้ขนาดใหญ่ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลสวนเพื่อไม่ให้การตัดกิ่งมีผลต่อการเติบโตของต้นไม้ต่อไปในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.forfur.com
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก : ไทวัสดุ
ใส่ความเห็น